นายปรัตรวีร์ วิจบ
นายอำเภอพานทอง

ประวัติอำเภอพานทอง PDF พิมพ์ อีเมล

ประวัติความเป็นมาของอำเภอพานทอง ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าตากสินได้นำทหารในบังคับบัญชาตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าหลบหนีจากกรุงศรีอยุธยาได้ กวาดต้อนครัวเรือนรายทางมาตั้งเมือง และทหารชั่วคราวขึ้นที่ตำบลโป่งตามุข เรียกว่า ตำบลโป่งตามุข เป็นเมืองควบคุมหัวเมืองชายทะเล มีตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณวัดโป่งตามุข ตำบลหนองหงษ์ ในปัจจุบัน ในสมัยนั้นมีพรานป่าคนหนึ่งชื่อ “ ทอง “ เป็นชาวอยุธยาได้อพยพครอบครัว และญาติพี่น้องหนีพม่ามาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากิน เลี้ยงชีพในทางล่าสัตว์ อยู่ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมคลองบางปะกง (ปัจจุบันเรียกคลองพานทอง) ตรงระหว่างตำบลบ้านเก่ากับตำบลบางนางปัจจุบัน และพร้อมกันนั้นนายพรานทองได้ทำหน้าที่เป็นจารชน สืบข่าวของข้าศึกถวายพระเจ้าตากสิน และได้รวบรวมกำลัง เข้าร่วมกับพระเจ้าตากสินกอบกู้อิสรภาพขับไล่พม่า จนกรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราชตามเดิม เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วนายพรานทองจึงได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ณ ริมคลองสายเดียวกัน ให้ชื่อว่า “ วัดพรานทอง” เพื่อเป็นการล้างบาปที่ตนเองมีอาชีพในทางล่าสัตว์ และได้อพยพครอบครัวมาประกอบอาชีพเป็นหลักเป็นฐานอยู่ในบริเวณใกล้วัดพานทองนี้ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านพรานทอง” และเรียกคลองซึ่งแยกจากคลองบางปะกงว่า ‘คลองพรานทอง’ แต่ด้วยเหตุที่ชาวบ้านออกเสียงควบกล้ำ ร และ ล ไม่ชัดเจน ฉะนั้นคำว่า “ วัดพรานทอง” “ บ้านพรานทอง ” และ “ คลองพรานทอง ” จึงได้เพี้ยนเป็น “ วัดพานทอง ” “ บ้านพานทอง ” และ “ คลองพานทอง” ดังที่เห็นในปัจจุบัน ต่อมา เมื่อประมาณ ๗๐ ปีเศษมานี้ ประชากรได้เพิ่มจำนวนหนาแน่นมากขึ้น ซึ่งสภาพพื้นที่ของอำเภอพานทองในสมัยนั้น เป็นที่ราบลุ่มคล้ายท้องกระทะ เหมาะแก่การทำไร่นามีคลองธรรมชาติจากอำเภอพนัสนิคม ผ่านหมู่บ้านท่าตะกูด หมู่บ้านพานทอง หมู่บ้านเก่าถึงแม่น้ำบางปะกง ผลผลิตทางการเกษตร จากอำเภอพนัสนิคมจะถูกขนส่งมาทางเรือในฤดูน้ำหลาก มารวมจุดพักขนถ่ายและซื้อขายที่หมู่บ้านท่าตะกูด ส่วนหน้าแล้งประชาชนส่งผลผลิตทางการเกษตรมาทางล้อเลื่อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกวียน ชาวบ้านเรียกว่า “ตะกูด” และเรียกหมู่บ้านที่เป็นชุมชนการนี้ว่า “ท่าตะกูด” เมื่อมีประชากรมากขึ้นก็เริ่มมีโจรผู้ร้ายรบกวน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและมีความจำเป็น ที่จะต้องติดต่อราชการมากขึ้น ทางราชการจึงได้ตั้ง ที่ว่าการอำเภอขึ้นโดยอาศัยบ้าน นางเชย สุอังคะ บ้านพานทอง เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราวโดยทางราชการได้ปลูกสร้างเป็นโรงไม้ขึ้นและเรียกชื่อว่า “อำเภอท่าตะกูด” จนถึงปี ๒๔๕๑ จึงได้ปลูก สร้างที่ว่าการอำเภอถาวรหลังใหม่ขึ้น ณ ที่เดิม และได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่จากท่าตะกูด เป็น “ อำเภอพานทอง” จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ ทางราชการเห็นว่า ที่ว่าการอำเภออยู่ไกลชุมชน ประกอบกับตัวอาคารทรุดโทรมมากและตั้งอยู่ในที่ลุ่ม น้ำท่วมขัง จึงได้ย้ายมาสร้างอาคารใหม่เป็นอาคารไม้สองชั้นในที่ดินของนายเพิ่ม ภักดี ผู้อุทิศที่ดินให้แก่ทางราชการ หลังจากนั้นอีก ๕๖ ปี ที่ว่าการอำเภอซึ่งเป็นอาคารไม้ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และคับแคบไม่สะดวกแก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่ติดต่อราชการ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นายปรีชา พรหมสุรินทร์ นายอำเภอพานทอง ได้รับงบประมาณ จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงได้สร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น ดังที่เห็นเช่นทุกวันนี้ ประชาชนในเขตอำเภอพานทองได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างสนามคอนกรีต และปรับปรุงโดยรอบที่ว่าการอำเภอ รวมทั้งจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ และติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั้งหลังเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้อีกนานเท่านาน อาคารที่ว่าการอำเภอหลังปัจจุบันนี้ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๗ โดยนายกนก ยะสารวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธี อาคารได้สร้างเสร็จและเริ่มให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๘ และได้กระทำพิธีเปิดที่ว่า การอำเภอพานทอง ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๙ โดยมี ดร.ชูวงศ์ ฉายะบุตร อธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานในพิธี

 


ขับเคลื่อนโดย Joomla!. Designed by: download joomla templates ThemZa  Valid XHTML and CSS.